In Focus: ส่องการประชุมอาเซียนครั้งที่ 46 ผนึกกำลังพันธมิตร พิชิตปัญหารอบด้าน

การประชุมสุดยอดของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 46 ที่จัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค. ภายใต้แนวคิด “การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และความยั่งยืน” (Inclusivity and Sustainability) ซึ่งมีวาระสำคัญคือการรวมกลุ่มกันมากขึ้นในภูมิภาคและการฟื้นตัวจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจและการค้า อาจเรียกได้ว่าเป็นการประชุมแห่งการผนึกกำลังอาเซียนอย่างจริงจังเลยก็ว่าได้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ของโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายทั้งจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และวิกฤตความขัดแย้งในเมียนมาที่ยังคงค้างคา

วันนี้ In Focus จึงขอพาทุกท่านไปเจาะลึกการประชุมอาเซียนครั้งสำคัญนี้

*ผนึกกำลังอาเซียน รับมือปัญหารอบด้าน

ในพิธีเปิดการประชุม อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนร่วมมือกันเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก เพื่อธำรงไว้ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม โดยตัวเขาได้เน้นย้ำว่า สันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียนขึ้นอยู่กับระเบียบระหว่างประเทศที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และยึดมั่นในกฎเกณฑ์ พร้อมชี้ว่า ระบบการค้าโลกกำลังเผชิญกับความตึงเครียดมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรฝ่ายเดียวเมื่อไม่นานมานี้ นอกจากนี้ อันวาร์ยังได้เสนอแนะให้อาเซียน รักษาสมดุลความร่วมมือระหว่างจีน-สหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ บรรดาผู้นำของอาเซียนต่างแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “มาตรการภาษีศุลกากรฝ่ายเดียว” พร้อมเตือนว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความท้าทายที่ซับซ้อนและหลากหลายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพ และการรวมกลุ่มของอาเซียน ซึ่งถือเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มอาเซียนที่มีต่อระบบการค้าพหุภาคีโดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนหลัก

ชาติสมาชิกของอาเซียนต่างกำลังเผชิญผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยข้อมูลที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 9 เม.ย. เผยว่า สหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีจากกัมพูชาในอัตรา 49% ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% ไทย 36% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% บรูไน 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10% ก่อนจะประกาศเลื่อนเวลาเรียกเก็บออกไป 90 วัน

นอกจากความร่วมมือเพื่อรับมือภาษีของปธน.ทรัมป์แล้ว เอนริเก มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ยังเปิดเผยนอกรอบการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ด้วยว่า อาเซียนจำเป็นต้องผนึกกำลังกัน เพื่อรับมือกับปัญหาสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งในเมียนมา ตลอดจนส่งเสริมการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

*จุดยืนต่อเมียนมา กังวลแต่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว

กลุ่มอาเซียนได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับ “ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรง” และ “สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง” ในเมียนมา พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุมเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนในทันที และขยายเวลาการหยุดยิงที่เมียนมาประกาศหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนมี.ค. โดยมองว่า “การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยสำหรับการส่งมอบความช่วยเหลือ

แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนยังได้ระบุถึงเป้าหมายในการบรรลุการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ยั่งยืนและสันติโดยการสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเจรจาแบบครอบคลุมและยั่งยืนด้วย

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังไม่มีความเคลื่อนไหวอย่างอื่นมากนักในเรื่องนี้ นอกจากการสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ หรือ Five-point Consensus ในแถลงการณ์ร่วมที่เมียนมาเองก็ไม่ค่อยยึดมั่นเท่าใดนัก

สำหรับผู้แทนของเมียนมาในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้คือ ออง จอ โม เลขานุการถาวรของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา โดยนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 อาเซียนอนุญาตให้เฉพาะผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองจากเมียนมาเข้าร่วมการประชุม และไม่อนุญาตให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุม

*ความร่วมมือ 3 ทาง

นอกจากการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว การประชุม 3 ทางระหว่างอาเซียน กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งประกอบด้วย 6 ชาติจากฝั่งอาหรับ และจีนที่ส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ก็มีบทบาทสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

อันวาร์ระบุว่า ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นระหว่างอาเซียนกับ GCC มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน บิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียก็เรียกร้องให้มีการกระชับสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยชี้ว่า การค้าระหว่าง GCC และอาเซียนขยายตัวขึ้น 21% ตั้งแต่ปี 2566-2567 โดยมีมูลค่ารวมราว 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของความร่วมมือของทั้งคู่

ขณะเดียวกัน การปรากฏตัวของนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ก็สะท้อนถึงอิทธิพลที่มากขึ้นของจีนในอาเซียน และเขายังกล่าวด้วยว่า ความร่วมมือ 3 ทางนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสันติภาพในภูมิภาค

*ท่าทีของไทย

ประเทศไทยเองก็มีท่าทีสนับสนุนความร่วมมือกันที่แน่นแฟ้นเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ โดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยมองว่า อาเซียนต้องร่วมมือกันรับมือกับภูมิทัศน์โลกที่กำลังเปลี่ยนไปสู่นโยบายที่แข็งกร้าวและมุ่งผลประโยชน์ตอบแทน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน การใช้ FTA อย่างเต็มที่ ควบคู่กับส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ MSMEs ทั้งยังใช้โอกาสนี้ในการยืนยันการสนับสนุนการค้าที่เสรี โปร่งใส และยุติธรรม และยืนยันจะผลักดันข้อตกลง Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ให้แล้วเสร็จในปี 2568

นอกจากนี้ นายกฯ ยังประกาศอีกว่า ไทยจะแสดงบทบาทนำขับเคลื่อนอาเซียนสู่เป้าหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในความปรารถนาของอาเซียนที่ระบุไว้ใน “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2045” (ASEAN Community Vision 2045) โดยเน้นเรื่องการเงินสีเขียว การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

*แล้วเจอกัน ติมอร์-เลสเต

และเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ก็คือ การที่ติมอร์-เลสเต จะกลายเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะได้รับสถานะสมาชิกในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนต.ค. โดยโฮเซ รามอส-ออร์ตา ปธน.ของติมอร์-เลสเต ได้ออกมาแสดงความขอบคุณต่อเหล่าผู้นำของอาเซียนและผู้นำติมอร์-เลสเต ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่พยายามอย่างหนัก จนสามารถมาถึงจุดนี้ได้

*เอกสารผลลัพธ์ 9 ฉบับ

ภายหลังการประชุมผู้นำอาเซียน ยังได้มีการร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ 9 ฉบับ อันได้แก่

1. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (KL Declaration on the 10th Anniversary of the Establishment of the ASEAN Community)

2. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (KL Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future)

3. วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 “อาเซียนที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม มีพลวัตและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” (ASEAN Community Vision 2045: “Resilient, Innovative, Dynamic and People-Centred ASEAN”)

4. แผนยุทธศาสตร์ประชาคม การเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Strategic Plan)

5. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Strategic Plan)

6. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Strategic Plan)

7. แผนยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity Strategic Plan)

8. กรอบความยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาเซียน (ASEAN Creative Economy Sustainability Framework)

9. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านยา (ASEAN Declaration of Commitment on ASEAN Drug Security and Self-Reliance: ADSSR)

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของอาเซียนในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไทยเองก็ไม่เพียงแต่ร่วมมือเท่านั้น แต่ยังเสนอตัวเป็นแรงผลักดันหลักให้กับอาเซียนด้วย และเราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ทิศทางของอาเซียนที่กำลังจะมีสมาชิกรายใหม่อย่างเป็นทางการจะเป็นอย่างไรต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)

Tags: , ,