PTT ตั้งการ์ดสูงรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย จัดกระแสเงินสดปั๊ม EBITDA 2 หมื่นลบ.เร่งหาพันธมิตร

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. [PTT] เปิดเผยว่าสถานการณ์พลังงานปัจจุบันมีความผันผวน และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอย จากนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้สหรัฐ ส่งผลให้ราคาน้ำมัน และค่าการกลั่น (GRM) ปรับลดลงมากพอสมควร บริษัทจึงได้มีการเตรียมแผนรับมือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยตั้งเป้าสร้าง EBITDA ส่วนเพิ่มอีกราว 20,000 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อพยุงให้ผลประกอบการเติบโตต่อได้ แย้มดีลพันธมิตรเสริมแกร่งธุรกิจปิโตรเคมี-โรงกลั่นชัดเจนภายในปี 68 ย้ำ PTT ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

“เนื่องจากเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะไม่ค่อยดี มีความเสี่ยงเยอะจากสงครามการค้า ดังนั้นเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะขยายตัวลดลง ราคา Commodity ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ มาร์จิ้นปิโตรเคมีต่าง ๆ ไม่น่าจะดีขึ้น ดังนั้นเราก็ต้องเตรียมรับมือ กระแสเงินสด สภาพคล่อง ที่สำคัญต้องปรับตัวเราเอง เพื่อช่วยพยุงผลประกอบการของเราสามารถต่อสู้ไปได้”

โดย EBITDA ส่วนเพิ่มในปี 68 ได้แก่ การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาสร้างรายได้ (Asset Monetization) แสวงหาโอกาสเพื่อเพิ่มผลกำไร โดยตั้งเป้าหมายแปลงสินทรัพย์เป็นกำไรในปีนี้มากกว่า 8,000 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มประมาณ 10,000 ล้านบาท โครงการ MissionX ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่ม EBITDA ผ่านการทำ Operational Excellence เป้าหมาย 1,000-2,000 ล้านบาท จาก Quick win initiatives การขยายการดำเนินงานจากโครงการ P1 สู่ D1 เป้าหมาย 2,000-3,000 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจากับพันธมิตรหลายราย ในการร่วมทุนกลุ่มปิโตรเคมี โรงกลั่น โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีนี้ โดยบริษัทยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด บริษัทย่อยของ PTT ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ทเนอร์ซึ่งบริษัทก็มีการเติบโตและสามารถออกไปหาพาร์ทเนอร์ในวงการนี้ ซึ่งมีความคืบหน้าแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

นอกจากนี้จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนบริษัทจึงได้ดำเนินเชิงรุกจัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอยครอบคลุมการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่

1. Strategy ทบทวนกลยุทธ์เดิมพร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ พบว่ากลยุทธ์กลุ่ม ปตท. มา ถูกทาง เหมาะสม สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายจากเรื่องสงครามการค้าได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความร่วมมือภายในกลุ่มปตท.

2. Financial Management รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับ Credit Rating

3. Supply Chain & Customer ดูแลคู่ค้า ลูกค้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องตลอด Supply Chain พร้อมเร่งดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม

4. Project Management ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset Monitization) ของ Flagship

5. Communication สื่อสารและสร้างความเข้าใจการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง

สำหรับความคืบหน้าโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) 470 ล้านหุ้น ปัจจุบันซื้อไปแล้ว 177 ล้านหุ้น ซึ่งบริษัทได้ว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์ช่วยดูแล ตอนนี้อยู่ระหว่างการพักยกในช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/68 หลังจากนี้จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อต่อ ทั้งนี้การซื้อหุ้นคืนไม่ได้เป็นการเก็งกำไร แต่เป็นการบริหารเงินสดส่วนเกิน และทำให้ผู้ถือหุ้นได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นด้วย

ขณะที่โครงการ LNG ในอลาสก้า อยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ทีมผู้บริหารได้เข้าไปเจรจา ซึ่งยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากเทียบกับสหรัฐด้วยกันระยะทางใกล้กว่า เป็นแหล่งใหม่ และมีความยืดหยุ่นในการขาย ทั้งนี้เป็นการกล่าวถึงในแง่ของการซื้อ LNG แต่คงไม่ลงทุน อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ได้มีการปรับพอร์ตธุรกิจ Non-Hydrocarbon โดยประเมินธุรกิจใน 2 มุม คือ 1) ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractiveness) และ 2) ปตท. มี Right to Play มีความถนัดหรือมีจุดแข็ง สามารถเข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้นๆ ได้ และมี Partner ที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง

ปตท. ระบุว่ามีแนวทางการลงทุนในธุรกิจ Non-Hydrocarbon ดังนี้

1) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV Value Chain จะมุ่งเน้นธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Horizon Plus และธุรกิจที่มีความเสี่ยง

2) ธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่ง ปตท. ออกจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของกลุ่ม ปตท. มุ่งเน้นเฉพาะที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก และสามารถสร้าง Synergy ภายในกลุ่มได้

3) ธุรกิจ Life Science ปรับพอร์ตมุ่งเน้นเฉพาะ Pharmaceutical และ Nutrition มีแผนการเติบโตที่ชัดเจนร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน (Self-funding)

ทั้งนี้จากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ Non-Hydrocarbon ข้างต้น ทำให้สามารถรักษาเงินลงทุน (Capital Preservation) ไว้ได้ แทนที่จะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงและไม่สร้างผลกำไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 68)

Tags: , , , , ,