ทุกภาคส่วนเห็นพ้องเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อยกระดับรับผลกระทบโควิด-19

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “ปรับสมดุลตลาดแรงงานไทยยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” ว่า ปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นมาจากการแก้ไขไม่ตรงจุด เพราะขณะที่มุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ยุค 4.0 ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุค 2.0 ที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และการผลิตสินค้าส่งออกจำพวกวัตถุดิบ

“การพัฒนาประเทศไม่ก้าวหน้า เพราะตอนนี้เหมือน 2.0 กับ 4.0 กำลังเล่นชักกะเย่อกัน ทำให้เกิดปัญการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ แต่ต้องการแรงงานไร้ฝีมือไปพร้อมๆ กัน” นายธนิต กล่าว

รองประธานอีคอนไทย กล่าวว่า รัฐบาลยังชื่นชมกับยอดส่งส่งออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการเพิ่มจำนวนแรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ไม่ใช้การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เศรษฐกิจของประเทศจึงไม่ได้เติบโตอย่างแท้จริง อีกทั้งรายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุน การนำเข้าไม่ได้กระจายตัวลงไปสู่รากหญ้าเหมือนเรื่องการท่องเที่ยว

“ปัญหาใหญ่คือการยกระดับคุณภาพแรงงาน ไม่ใช่จบการศึกษาสูง แต่ขาดทักษะ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ต่างชาติใช้ตัดสินใจเรื่องมาลงทุน” นายธนิต กล่าว

รองประธานอีคอนไทย กล่าวว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทุกฝ่ายต้องปรับตัวและร่วมมือกัน ภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแลและวางนโยบายจากการรับฟังความเห็นของภาคเอกชน แรงงานพัฒนายกระดับฝีมือตัวเองตลอดเวลา ไม่ต้องออกมาเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อว่าผู้ประกอบการยินดีที่จะจ่ายค่าแรงสูงหากมีผลประกอบการที่ดี สร้างกำไรให้กับธุรกิจ

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาความสามารถแรงงานในประเทศไทยถดถอยลง มีความเฉื่อยในการปรับตัว ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น คุณภาพแรงงานอ่อนแอลง ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาโครงสร้างแรงงานไม่มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจที่ขยายตัวเกิดจากการเพิ่มจำนวนแรงงาน ไม่มีการยกระดับคุณภาพแรงงานให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดต่ำลง

“รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการทำงานหนัก ตัวเลขจีดีพีหลอกๆ ขยายแต่ปริมาณ ไม่ใช่การยกระดับคุณภาพ ซึ่งในต่างประเทศจะใช้เวลาในการยกระดับแรงงานให้ทันการเปลี่ยนแปลงราว 18-24 เดือน แต่เราทำมา 15 ปีแล้วยังไม่คืบหน้า” นายเกียรติอนันต์ กล่าว

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ภาคการศึกษาต้องปรับบทบาท ไม่ใช่แค่ให้การศึกษาแค่ 4 ปีเท่านั้น แต่จะต้องทำงานวิจัยให้มากขึ้น เพื่อนำความรู้ที่ทันสมัยมาจัดคอร์สถ่ายทอดเพื่อพัฒนาบุคลากรของภาคเอกชน

นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทย 37.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน ซึ่ง 11.2 ล้านคน หรือ 57.2% มีการศึกษาแค่ระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่านั้น และครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ สภาพทั่วไปมีรายได้ไม่แน่นอน ชั่วโมงการทำงานสูง ไม่มีหลักประกันทางสังคม โดยมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 3.6 ล้านคน ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของภาครัฐไม่ตรงจุด การเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ควรที่จะมีแผนพัฒนาในระยะกลางและระยะยาวด้วย

“ถ้าคนในประเทศอยู่ในสังคมที่ไม่รู้สึกว่ามีความมั่นคงแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศจะพัฒนาไปได้” นางพูลทรัพย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สังคมต้องปรับเปลี่ยนความคิดว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คนเหล่านี้จะเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพ ไม่ใช่การซ้ำเติมด้วยการออกกฎหรือนโยบายมาควบคุม

นายวุฒิศักดิ์ ปฐมศาสตร์ ตัวแทนจากกรมจัดหางาน กล่าวว่า หลังวิกฤตโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะมีผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์นับจากปีที่แล้วทำให้มีผู้ว่างงานนับแสนราย ขณะนี้กรมฯ เตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานของทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 64)

Tags: , , ,