ธปท.ชี้ปัญหารัสเซีย-ยูเครน ทำบาทผันผวน-เงินเฟ้อสูง คาดกนง.รอบหน้าปรับประมาณการ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบเบื้องต้นต่อประเทศไทย จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สิ่งแรกคือ เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งแม้ไทยจะมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างดี แต่ในระยะสั้นก็ได้รับผลกระทบทำให้เงินบาทผันผวน

ส่วนที่สอง คือ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และส่วนที่สาม ระบบการชำระเงินของไทย ที่คาดว่าจะไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องติดตามทิศทางระบบการชำระเงินของโลกว่าจะได้รับผลกระทบจากกรณีที่ชาติตะวันตกจะตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) มากน้องเพียงใด

“เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังดี แต่คงเห็นผลกระทบบ้างที่บาทผันผวน นอกจากนี้ จะเห็นได้จากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เพราะรัสเซีย-ยูเครน เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ มีความสำคัญต่อ supply chain และส่งผลต่อราคาในตลาดโลกที่เข้ามาในไทยด้วย และอีกส่วนคือทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง แต่ไทยเองมีการค้ากับรัสเซียและยูเครนไม่มาก ดังนั้น หลักๆ ที่จะกระทบต่อไทย คือ ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่วนระบบการชำระเงินของไทยคงไม่มีปัญหา แต่ระบบชำระเงินโลกต้องดูทิศทางเรื่อง SWIFT ว่าจะทำมากน้อยแค่ไหน ทำกี่แบงก์”

น.ส.ชญาวดีระบุ

น.ส.ชญาวดี กล่าวด้วยว่า การที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจไทยในปี 65 ที่น่าจะออกมาดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปีนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องจับตา ดังนั้นน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนได้จากหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งหน้า (30 มี.ค.) ว่าจะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยอย่างไร

“ในส่วนของเงินเฟ้อ คงจะมีการปรับขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์ (รัสเซีย-ยูเครน) คงต้องปรับทั้ง 2 เรื่อง (เงินเฟ้อ-จีดีพี)”

น.ส.ชญาวดีระบุ

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงนั้น คาดว่าจะสูงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนจะสูงขึ้นไปอีกนานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนว่าจะใช้เวลายาวนานเพียงใด เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของตลาด และราคาน้ำมันโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ กนง.พิจารณาว่าจะต้องปรับตัวเลขเงินเฟ้อไปจากประมาณการเดิมมากน้อยเพียงใด

รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากต้องพิจารณาประเด็นระยะเวลาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ยังต้องพิจารณาจากปัจจัยเรื่องการระบาดของไวรัสโอมิครอนด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 65)

Tags: , , ,