นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ทิศทางการเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่างๆ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ราว 4.4%
ในขณะที่ค่าเงินบาทนั้น นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (Year to Date) อ่อนค่าไป 7.8% เป็นรองก็เพียงเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าไปแล้วถึง 9.6% อย่างไรก็ดี พบกว่าในช่วงไตรมาสแรก เงินบาทอ่อนค่านำสกุลเงินอื่น ซึ่งนอกจากจะได้รับผลจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีผลมาจากปัจจัยในประเทศเอง ที่ตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดไว้ จึงเป็นผลให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
“ยอมรับว่าเงินบาทในไตรมาส 1 อ่อนค่านำสกุลเงินอื่น เพราะนอกจากจะมีสาเหตุจากนโยบายของเฟดแล้ว ยังมาจากเรื่องในประเทศด้วย คือ ตัวเลขเศรษฐกิจออกมา soft กว่าคาด จึงทำให้บาทอ่อนมากกว่าภูมิภาค”
นายสักกะภพ กล่าว
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาส 2 ในเดือนเม.ย.นี้ เงินบาทก็เริ่มอ่อนค่าตามปัจจัยภายนอก และอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินในภูมิภาค โดยอ่อนค่าเพียง 1.7% ขณะที่สกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังอ่อนค่ามากกว่า 2%
“ตั้งแต่เม.ย. เงินบาทก็เกาะกลุ่มเคลื่อนไหวในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยไตรมาส 2 เงินบาทก็ยังอาจจะอ่อนค่าจาก seasonal มีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งกดดันให้บาทอ่อนค่าได้ แต่เหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราว เชื่อว่าปัจจัยที่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าจะค่อยๆ ลดลงไปในช่วงครึ่งปีหลัง”
นายสักกะภพ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 67)
Tags: ธปท, สักกะภพ พันธ์ยานุกูล, เงินบาท