ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ภาคการเงินที่ดีต้องสมดุลทั้งสร้างนวัตกรรม-บริหารความเสี่ยง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทย” ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยต้อง inclusive กว่าเดิม ต้องโตแบบทั่วถึง ทั้งนี้ จากปัญหาโครงสร้างที่สะสมมานาน ทำให้การเติบโตแบบทั่วถึงมีความจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะถ้าไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง และไม่สามารถโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การเติบโตที่ไม่ทั่วถึงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ล่าสุดเร่งตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปด้วยความลำบาก

“ถ้าถามว่า อนาคตเศรษฐกิจการเงิน จะ inclusive หรือทั่วถึงกว่าในอดีตได้หรือไม่ คำตอบสั้น ๆ คือ ไม่แน่ เพราะถ้ามองไปข้างหน้า มีอย่างน้อย 2 กระแสที่จะมาแน่นอน คือ Digital และ Green ซึ่งทั้ง 2 กระแสนี้ มีศักยภาพที่จะเพิ่ม inclusion ได้ แต่ก็มีโอกาสที่อาจจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

พร้อมฉายภาพของอนาคตใน 2 Alternative Futures ให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ดังนี้

ภาพแรก อาจเป็นอนาคตที่ดูมืดมน ที่ทั้งกระแส Digital และ Green มาซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เพราะรายใหญ่มักคว้าโอกาสและปรับตัวได้เร็วกว่า จึงต่อยอดการเติบโตและยิ่งทิ้งห่างรายเล็กไปไกลกว่าเดิม กล่าวคือ ในมุม Digital คนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี มักเป็นคนที่ได้แต้มต่ออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนทักษะสูง ที่สามารถเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ง่ายกว่าคนที่ทักษะต่ำ หรือบริษัทรายใหญ่ไม่กี่รายที่ dominate ประโยชน์จากเทคโนโลยี ขณะที่รายเล็กมักทำได้ยาก เป็นอีกรูปแบบของความเหลื่อมล้ำจากเทคโนโลยี Digital ที่จะซ้ำเติม SMEs หรือผู้เล่นรายเล็กให้ปรับตัวได้ลำบาก นำไปสู่โอกาสที่จะมีการผูกขาดในระยะยาว หรือ winner takes all และรายใหญ่จะทิ้งห่างรายเล็กไปมากกว่าเดิม

ส่วนของกระแส Green ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับตัวรับกระแสนี้ไปแล้ว และสามารถยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในระดับสากลได้ เห็นได้จาก 13 บริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่รายเล็กมีเงินทุนไม่สูงมาก สายป่านสั้น และยังต้องปรับตัวให้ผ่านวิกฤตโควิดก่อน จึงอาจยากที่จะปรับตัวต่อกระแส Green

ภาพที่สอง เป็นอีกภาพในอนาคตที่ทั้งกระแส Digital และ Green เป็นโอกาสที่จะสร้าง inclusive growth ได้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้รายเล็ก ด้วยการเข้าสู่ digital platform เห็นได้จากการเข้าสู่ e-commerce platform ของ SMEs ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดที่ทำให้ธุรกิจขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดใหม่ ๆ นอกภูมิภาค และเพิ่มยอดขายได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยี Digital ในภาคการเงิน ยังทำให้มีผู้เล่นใหม่ ๆ ซึ่งจะสร้างการแข่งขัน กระตุ้นภาคการเงินให้มีพัฒนาการและสนับสนุนประชาชนและธุรกิจได้หลากหลายกลุ่ม และตอบโจทย์ผู้บริโภครายเล็ก ๆ และทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของไทย inclusive มากขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จาก 2 Alternative Futures ข้างต้น หน้าที่หลักของผู้กำหนดนโยบาย (policymakers) คือ ต้องสร้าง ecosystem หรือระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิด future ที่ 2 ที่ inclusive กว่าเดิม โดยใช้กลไกตลาดในทางที่ถูกต้อง ซึ่งในส่วนของ ธปท. มีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

โจทย์แรก คือ ทำให้ภาคการเงินส่งเสริม inclusion ด้วยการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital และข้อมูลได้เต็มที่ เช่น การมี Digital ID ที่จะพาคนเข้าสู่โลก Digital ได้สะดวก ปลอดภัย สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องไปสาขา รวมถึงสมัครใช้บริการทางการเงินประเภทอื่น ๆ โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันได้ สำหรับ SMEs ก็จะสามารถทำธุรกิจบนระบบ Digital ได้แบบ end-to-end ตั้งแต่วางบิล จ่ายเงิน บริหารคลังสินค้า เหมือนระบบของบริษัทใหญ่ ซึ่งจะเป็น digital footprint ที่จะใช้ต่อยอดเป็นข้อมูลในการขอสินเชื่อได้ ซึ่งการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในวงกว้างขึ้นในอนาคต จะเอื้อให้เกิดกลไกการค้ำประกันเครดิตให้ทุกกลุ่ม ทั้งประชาชน SMEs และบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม

โจทย์ที่สอง คือ การมีระบบที่เอื้อให้เราเท่าทันความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Digital ทั้งการป้องกันและรับมือกับภัย cyber และการหลอกลวง (fraud) รวมทั้งมีกลไกป้องกันความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เกิดได้เร็ว และมีแต่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยในปี 2020 cyber attack ทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการใช้งาน Digital ของประชาชนและธุรกิจไทย และขณะเดียวกันต้องรู้เท่าทันความเสี่ยง เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital ได้อย่างมั่นใจ สบายใจ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น

โจทย์สุดท้าย คือ การเตรียมกลไกภาคการเงิน และออกแบบแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ร่วมกันพัฒนา “ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” เช่น มีมาตรการจูงใจเพื่อสร้างตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีคุณภาพ และมองไปข้างหน้า ภาคการเงินจะต้องเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้ปรับตัว โดยเฉพาะรายเล็กที่จะต้องได้รับโอกาสเพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกใหม่

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การจะดูแลให้ ecosystem ของภาคการเงินสามารถรองรับโจทย์ 3 ข้อได้นั้น ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่สองกระแสข้างต้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและมีความไม่แน่นอนสูง การรักษาเสถียรภาพหรือ stability ให้กับภาคการเงินจะยังมีความสำคัญ เพราะต้องมั่นใจว่าผู้ให้บริการทางการเงินยังสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่าง SMEs และประชาชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง และต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน หรือกลายมาเป็น shock amplifier จนกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า หากเราจะมุ่งรักษา stability เพียงอย่างเดียว ผ่านการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อดูแลความเสี่ยงจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งอาจไปจำกัดขอบเขตการทำธุรกิจ ทำให้ต้อง trade-off กับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ผู้ใช้บริการและระบบเศรษฐกิจจะได้รับ เราควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง resilience มากกว่าการรักษา stability เพียงอย่างเดียว เพราะคำว่า resilience แม้ในภาษาไทยจะแปลว่า “ความเข้มแข็งมั่นคง” เหมือนกับ stability แต่ resilience กินความหมายกว้างกว่านั้น เพราะยังสื่อรวมไปถึงความสามารถในการฟื้นตัวหรือรับมือกับ shocks ต่าง ๆ ได้

“ecosystem ของภาคการเงิน จะต้อง balance ให้ดี ระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมา ไม่ให้กระทบภาคการเงินในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่ resilience ที่แท้จริงที่จะสนับสนุนให้ระบบการเงินทำหน้าที่ได้ดี สามารถกระจาย resource และโอกาสทางการเงินไปสู่ผู้ที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม เป็น enabler ให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน สร้างความเจริญ มั่งคั่ง ให้ทั่วถึง” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,