วงเสวนาถกโครงสร้างค่าไฟใหม่ เอกชนเสนอเลิกระบบ Ft

หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ร่วมวงเสวนา หัวข้อ “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร” เน้นเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ด้านเอกชนเสนอรัฐเลิกระบบเอฟที หนุนผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีใหม่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพิ่มทางเลือก ลดต้นทุน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุว่า ความเป็นธรรมประกอบด้วย 3 ส่วนที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.อัตราค่าบริการและความเสี่ยง 2.ความมั่นคงและคุณภาพ 3.นโยบายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพง อยู่ภายใต้นโยบายและแผน เพราะโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องต้องใช้การวางแผนล่วงหน้า ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ภายในเวลาแค่ 1-2 วัน ต้องยอมรับว่าค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะ LNG นำเข้าที่มีความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะราคาที่เหมาะสมเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึง แต่มีเรื่องคุณภาพเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มารองรับ เช่น สถานีกักเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ (LNG Terminal) กกพ.ในฐานะกำกับดูแล จึงต้องพิจารณาอัตราผลตอบแทนอย่างเหมาะสมในทุกๆ จุด

ทั้งนี้ องค์ประกอบของโรงไฟฟ้า ไม่ได้มีเฉพาะโรงไฟฟ้าที่พร้อมเดินเครื่องเท่านั้น แต่ยังมีโรงไฟฟ้าที่รองรับกรณีฉุกเฉินด้วย เช่น โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้ากระบี่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และระบบของไทย ก็เป็นไฟฟ้าราคาเดียวกันทั้งประเทศ ที่ต้องมีการเกลี่ยต้นทุนกันของ 3 การไฟฟ้า

สำหรับระบบไฟฟ้าของแต่ละประเทศ ต่างก็มีแนวนโยบายที่จะดูแลแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง เวียดนามมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วนสูง แต่ก็มีไฟฟ้าตกดับบ่อย มีการอุดหนุนค่าไฟให้กับกิจการขนาดใหญ่ แต่ก็ปล่อยราคาสะท้อนต้นทุนกับกิจการขนาดกลาง เป็นต้น ส่วนสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีทรัพยากรไม่มากนัก ก็ใช้ระบบเปิดเสรีราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เป็นต้น

ด้านนายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงแนวทางที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ว่า เบื้องต้นต้องเคลียร์ต้นทุนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาการอุดหนุน และเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ภาระไปตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม จากบริบทของสังคมเปลี่ยนไป จึงมีข้อเสนอว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า (Time of Use Tariff :TOU) เพื่อกระจายช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำกันมานานนับสิบปี ก็ควรจะปรับเปลี่ยนด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ. ปตท. (PTT) กล่าวว่า ปตท.มีสถานะเป็นผู้นำเข้ารายหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. และยังมีผู้นำเข้าอีกหลายราย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการผลิตไฟฟ้ามีการลงทุนสูง ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงคุณภาพของไฟฟ้าด้วย ซึ่งไทยมีการพัฒนาระบบไฟฟ้ามาไกล จนไม่สามารถยอมรับให้มีปัญหาไฟฟ้าตกดับได้ แต่การผลิตไฟฟ้า นับวันก็จะมีความท้าทายมากขึ้นตามลำดับ เพราะโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล และ AI ที่จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโตขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

หัวใจสำคัญ คือ การผสมผสานที่สมดุลระหว่างการเปิดให้มีการแข่งขันเสรี กับระบบการกำกับดูแล ซึ่งทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ต้องพิจารณาในเรื่องราคาที่ต้องสะท้อนต้นทุน เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประเทศในระยะยาว รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญคือการสื่อสารกับประชาชน

ด้านนายชนะ ภูมิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ หากไฟฟ้าตกดับเพียง 1 นาที จะกระทบเป็นเงินถึง 5 แสนบาท/ครั้ง ปัจจุบันโรงงานปูนซิเมนต์ที่สระบุรี จึงนำเทคโนโลยีผลิตพลังงานใช้เองมาใช้มากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าลดลง เหลือซื้อจากระบบของการไฟฟ้า 12,000-13,000 ล้านบาท จากเดิม 20,000 ล้านบาท ที่เหลือ 40% ผลิตใช้เอง ซึ่งเราพร้อมเป็นโมเดลให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ดังนั้นนโยบายต้องปรับให้ทัน ยกตัวอย่าง ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่ปรับทุก 4 เดือน เห็นควรให้ยกเลิก และหันมาสนับสนุนการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโหลดของผู้ใช้ รวมถึงสร้างทางเลือกการซื้อขายไฟฟ้าได้หลายแหล่งและหลากหลาย

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเสนอเพื่อทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบลดลง คือ การกันงบประมาณแยกต่างหากสำหรับสวัสดิการที่ให้กับประชาชน เช่น ไฟฟ้าสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 67)

Tags: , , , , ,