สธ.ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในตลาดหลังพบคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่อง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาด เนื่องจากมักพบการแพร่ระบาดในบริเวณสถานที่ที่มีผู้คนมารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดในตลาดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 ส.ค. ตลาดจำนวน 132 แห่ง จากทั้งหมด 23 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 14,678 ราย และจากการสำรวจพื้นที่ตลาดกว่า 70% ไม่ได้มีการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC)

ดังนั้น จึงมีการยกระดับมาตรการเพื่อป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในตลาดพื้นที่สีแดงเข้ม โดยเน้นการดำเนินการ 3 ด้าน คือด้านบุคคล สถานที่ และชุมชน ดังนี้

1. ป้องกัน “คน” ได้แก่ ผู้ค้า, ลูกจ้าง, แรงงานที่เดินทางเข้าออก, ผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ และผู้ซื้อที่เข้าใช้บริการทุกคน โดยมีมาตรการหลัก คือไม่มีอาการสงสัยการติดเชื้อ ไม่มีประวัติเสี่ยง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนมาตรการเสริม คือตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุกสัปดาห์ทุกคนตามความพร้อม หรือสุ่มตรวจ 10% มีหลักฐานแสดงก่อนเข้าตลาด โดยต้องตรวจไม่เกิน 7 วัน หรือฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีหลักฐานแสดงก่อนเข้าไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือเคยติดเชื้อหรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องมีหลักฐานแสดงก่อนเข้า ว่าทำการแยกกักกันไม่น้อยกว่า 14 วัน

2. ป้องกัน “สถานที่ (ตลาด)” ด้วยประเมินการปฏิบัติตามแนวทางฯ ด้วย TSC+ (Thai Stop Covid Plus) พร้อมปรับปรุงหากเกิดปัญหา, จัดจุดเข้า-ออกทางเดียวหรือน้อยลง พร้อมตรวจคัดกรองคน, จัดคนควบคุมกำกับ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A โดยเคร่งครัด, จัดระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ไม่แออัด เว้นระยะห่าง มีการระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาดทำลายเชื้อ (ทุกวัน บริเวณพื้นผิวสัมผัสทุก 1 ชม. หรือทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น) และจัดระบบเพื่อลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด มีระบบ drop in/drop out ห้ามรวมกลุ่มพูดคุยหรือมีกิจกรรมเสี่ยง ทานอาหารแต่ละคนในพื้นที่ที่จัดให้มีการใช้วิธีจ่ายเงินดิจิทัล หรือมีระบบอื่นที่ลดการสัมผัสสิ่งของระหว่างกัน

3. จัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ด้วยการสุ่ม “เฝ้าระวังเชิงรุก” (ตามลักษณะตลาด) ทั้งตรวจคน และตรวจสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นผิว ผลิตภัณฑ์ น้ำเสีย, มี “แผนเผชิญเหตุ” พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและซ้อมแผน โดยเกณฑ์การดำเนินการ เป็นไปตามสถานการณ์การระบาด ลักษณะของตลาด และบริบทของผู้คนในและรายรอบตลาด, จัดเตรียม “โรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกัก/กักกัน” รองรับกรณีพบผู้ติดเชื้อ หรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก และประยุกต์ “การควบคุมกลุ่มและการเดินทางไปกลับ” ของคนในตลาด (bubble group and seal route) ตามบริบทของตลาดและพื้นที่ เป็นลักษณะกลุ่มตามการทำงานหรือกิจกรรมการค้า ครอบคลุมการเดินทางและที่พัก

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากพบการติดเชื้อ หรือการแพร่ระบาด จะดำเนินการสอบสวน ควบคุมโรค และจัดการความสะอาดสุขาภิบาล สำหรับตลาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะให้ดำเนินการทำ Bubble and Seal และดำเนินการตามมาตรการป้องกัน แต่หากไม่พบผู้ติดเชื้อในระยะเวลา 14 วัน จะทำการเฝ้าระวังตามกำหนดต่อไป

โดยถ้าพบผู้ติดเชื้อเกิน 10% จะทำการปิดตลาด หากไม่พบการติดเชื้อ หรือการแพร่ระบาด จะดำเนินการตามมาตราการป้องกัน เฝ้าระวังตามความเสี่ยง และเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะให้ปฎิบัติตามแผนเผชิญเหตุ และจะดำเนินการสอบสวน ควบคุมโรค และจัดการสุขาภิบาล

ส่วนมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม คือ จังหวัดมอบหมายผู้รับผิดชอบ ควบคุม กำกับให้ตลาดปฏิบัติตามมาตรการทุก 7 วันโดยทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือสาธารณสุข (สธ.) ต้องมีการเฝ้าระวังพฤติกรรมตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของคนในชุมชนรอบตลาด, มีการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบตลาด และที่พักของแรงงานต่างด้าว และบันทึกผลผ่านระบบ Google Form

ทางด้านประชาชนผู้ใช้บริการ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด, วางแผนการซื้อสินค้าและใช้เวลาให้น้อยที่สุด, ใช้วิธีทางเลือกในการสั่งสินค้า เช่น APP จ่ายตลาด.COM และประเมินการปฏิบัติตามมาตรการของตลาด

“แนะนำว่าเมื่อซื้ออาหารกลับมาที่บ้านแล้ว ควรเปลี่ยนภาชนะเป็นภาชนะของที่บ้านเพื่อความปลอดภัยจากการปนเปื้อนของเชื้อ และไม่แนะนำให้ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ลงบนพื้นผิวอาหาร แม้สเปรย์นั้นจะได้รับการรับรองว่าสามารถใช้กับอาหารได้ แต่ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 บนอาหารได้”

นพ.สุวรรณชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,