สธ.เผยสถานการณ์โควิดภาพรวมดีขึ้น แต่ยังเฝ้าระวังบางจว.หลังพบคลัสเตอร์ใหม่

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ขณะที่มีบางจังหวัดที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแนวโน้มการติดเชื้อยังไม่ลดลง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ตาก ระยอง จันทบุรี และขอนแก่น โดยในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหม่ในบางพื้นที่มากขึ้น ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ยังคงทรงตัว

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาคใต้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงกลางเดือนต.ค. ที่ผ่านมา โดยวันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19

ขณะที่การแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นช่วงขาขึ้น และเป็นการระบาดในชุมชนเป็นวงกว้าง โดยมาจากคลัสเตอร์ตลาด และสถานประกอบการเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างชาติ เพื่อเข้ามาทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจัดสรรให้ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม รวมทั้งต้องมีมาตรการต่างๆ เช่น ควบคุมการเดินทางของแรงงานต่างชาติให้เข้ามาในช่องทางที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่ที่จะเปิดให้มีการท่องเที่ยว จึงมีมาตรการรองรับทั้งการเพิ่มการจัดสรรชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง และการจัดทำ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เพื่อลดความหนาแน่นของเตียงสีเขียว และเพิ่มเตียงสีเหลือง สีแดงในโรงพยาบาล

ส่วนการติดเชื้อของกลุ่มเด็กเล็ก ในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่น่ากังวล คือเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว ที่อาจต้องมีการปรึกษาแพทย์เท่านั้น สำหรับเด็กทั่วไปความรุนแรงของโรคโควิด-19 จะไม่รุนแรงมาก จึงขอให้ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเกินไป เพราะสามารถป้องกัน และรักษาให้หายได้

นพ.เฉวตสรร ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศไทยว่า ภาพรวมมีความคืบหน้า โดยการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ภาพรวมเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 79.3% เข็มที่ 2 ครอบคลุม 58.8%

นอกจากนี้ จะเพิ่มการจัดสรรวัคซีนให้จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม บึงกาฬ หนองบัวลำพู กาฬสินธุ์ สกลนคร แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อ่างทอง และชัยภูมิ โดยทั้งหมดมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อยู่ที่ 39.3% และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 27.6%

สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา อายุ 12-17 ปี มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 54% และเข็มที่ 2 ครอบคลุมแล้ว 8.6% ทั้งนี้ส่วนใหญ่แนะนำให้เด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนเด็กผู้ชายถ้ามีโรคประจำตัว แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม แต่ถ้าไม่มีโรคประจำตัว การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครอง อย่างไรก็ดีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,