สรท.ชี้ส่งออกปีนี้โต 10% ต้องทำยอด 2 หมื่นล้านดอลล์/เดือน ถ้าคุมโควิดไม่ได้เหลือโต 7%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 64 เติบโต 10% ซึ่งหากจะให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องมียอดส่งออกให้ได้มากกว่าเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่หากควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาคการผลิตไม่ได้จนเกิดผลกระทบรุนแรง จะทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงเหลือเพียง 7%

“ถ้าจะให้ส่งออกปีนี้โต 10% ช่วงเวลาที่เหลือจะต้องพยายามส่งออกให้ได้เดือนละ 2 หมื่นดอลลาร์บวกๆ ต้องรอดูว่าค่าเงินบาทที่เป็นลมใต้ปีก จะต้านพายุหลายลูกที่เข้ามาได้หรือไม่” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับสถานการณ์การส่งออกในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมายังขยายตัวได้ดี เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออก เช่น จีน สหรัฐ สหภาพยุโรป ประกอบกับทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทที่ช่วยให้แข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าทุกกลุ่มในปีนี้ยังคงสดใส ยกเว้นข้าว และน้ำตาล

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1,500 แห่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อาหาร ยานยนต์ สิ่งทอ ทำให้กำลังการผลิตลดลงราว 20% ซึ่งเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจราวเดือนละ 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้

“ช่วงล็อคดาวน์ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดด้วย ไม่เช่นนั้นการขยายพื้นที่และขยายเวลาล็อคดาวน์ออกไปอีกเท่าไร ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย” นายชัยชาญ กล่าว

โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อการส่งออก ได้แก่

1.การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก

1.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ

1.2 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI index) ที่อยู่ระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแข็งแกร่ง

2.ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าใกล้เคียง 33 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจัยความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศไทยที่มีความรุนแรง ซึ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2564 ประกอบกับการแข็งค่าของดอลลาร์จากการเผชิญแรงกดดัน หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่รีบคุมเข้มนโยบายการเงิน แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะขยับสูงขึ้น

3.ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ได้แก่

1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ

1.1 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด–19 ภายในประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถควบคุมและลดการแพร่ระบาดได้อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อนได้

1.2 กรณีการติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิต และการส่งมอบสินค้า ทำให้การส่งออกเติบโตได้เพียง 10% จากที่คาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 15% ประกอบกับมาตรการ Bubble & Seal ซึ่งโรงงานขนาด SMEs ส่วนใหญ่ อาจไม่สามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ขณะเดียวกันภาครัฐไม่สามารถอำนวยความสะดวกและสนับสนุนได้ทั้งหมด

2 ปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ปริมาณการหมุนเวียนของตู้สินค้ายังไม่เพียงพอ ประกอบกับค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้น

2.1 ค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเลยังมีการปรับขึ้นในเกือบทุกเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และสหรัฐ เนื่องด้วยปริมาณการขนส่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่สายเรือใช้โอกาสเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มมากขึ้น อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ซึ่งแม้บางบริษัทยอมจ่ายอัตราพิเศษแต่ก็ยังไม่ได้ตู้สินค้า รวมถึงผู้ส่งออกที่ได้รับการยืนยันตู้แล้ว ก็อาจถูกยกเลิกก่อนกำหนด ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้า

2.2 การบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือที่ขาดประสิทธิภาพ และปัญหาจากการล่าช้าของเรือ ทำให้ตู้สินค้าไม่สามารถหมุนเวียนในระบบได้ดีเพียงพอ

3.แรงงานขาดแคลน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา ประกอบกับยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิต ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ยังมีข้อจำกัดในการจ้างแรงงานแบบ part-time ให้สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบัน

4.ปัจจัยการผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ Semiconductor Chip / Steel โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น และไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตหรือความต้องการของตลาดโลก

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Fully Lockdown โดยขอยกเว้นให้ภาคการผลิตและกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ การปฏิบัติงานของท่าเรือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ ยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อสัญญาการค้าระหว่างประเทศ และหลายธุรกิจมีสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ หากมีการหยุดประกอบการ จะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศตามมาในที่สุด

2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้เร็วที่สุด

3.ขอเรียกร้องให้มีการปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวจากส่วนกลาง เพื่อให้สามารถดำเนินการเหมือนกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะกรณีโรงงานที่มีพนักงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

4.ขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการเร่งปรับปรุงการทำงานในการจัดการด้านเอกสารออนไลน์ (e-Document) และการขออนุญาต/ใบรับรองเพื่อการส่งออกนำเข้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อลดการสัมผัสจากการเข้าไปติดต่อราชการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)

Tags: , , ,