อเบอร์ดีนมองหุ้นไทยมี Downside 1,300-1,350 จุดรอช้อนซื้อ ชูหุ้นรพ.-ท่องเที่ยว

นางสาวดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุน (Head of Equities – Thailand) บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศเช่นเดียวกันตลาดอื่น ๆ ทั้งประเด็นสงคราม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิชะลอตัวแบบ Soft Landing โดยมองดัชนีหุ้นไทยจะมีดาวน์ไซด์ที่ 1,300 – 1,350 จุด โดยระดับ 1,300 จุดอาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่สงครามขยายวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้กรอบดัชนีระดับดังกล่าวสามารถทยอยสะสมได้

ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้คาดว่าจะไม่ปรับขั้นอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องรอดูว่าจะมีการส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างไร โดยประเด็นที่ต้องติดตามต่อคือตัวเลขเศรษฐกิจที่จะรายงานออกมา จะเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งในอดีตช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว หุ้นจะปรับตัวลงและเป็นจังหวะให้เข้าซื้อได้

โดยตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งดัชนีอยู่ที่ประมาณระดับ 1,570 จุดตอนนี้ปรับตัวลงมากว่า 200 จุด เนื่องจาก ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (Earning) ที่ถูกปรับลดระดับลงมา อย่างไรก็ตาม Valuation ปรับตัวลงมาในระดับที่น่าสนใจมากกว่าเดิม ซึ่งใน 6 เดือนต่อไปต้องติดตาม Earning เป็นหลักและพยายามเลือกหุ้นตอบโจทย์ความคาดหวังได้ โดยจะต้องไม่มีความเสี่ยง ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้หุ้นที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 3/66 จะออกมาค่อนข้างดี เพราะคนไข้ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของไข้หวัด และหากดู Valuation มากกว่าครึ่งของกลุ่มใน SET ทั้งหมดเทรดต่ำกว่า PE ค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ระดับ 30-50% แล้ว

นอกจากนี้ในกลุ่มท่องเที่ยว จากประมาณการณ์นักท่องเที่ยวปี 66 ทั้งหมด 28 ล้านคน อาจจะลดลงเล็กน้อย จากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในประเทศน้อยกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาชดเชย อาทิ อินเดีย มาเลเซีย และรัสเซียจากนโยบายฟรีวีซ่า รวมทั้งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจยังเห็นการเติบโตของค่าห้องพักอยู่ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลางเนื่องจากมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากอิสราเอลค่อนข้างน้อยมาก

ขณะที่กลุ่มโรงไฟฟ้า อาจจะต้องหลีกเลี่ยงไปก่อนเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการลดค่าครองชีพ ส่งผลให้การทำรายได้ถูกจำกัด ในขณะที่ต้นทุนยังผันผวนอยู่ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการทำกำไร ในขณะที่กลุ่มค้าปลีกจากประมาณการของนักวิเคราะห์ยังไม่ได้ให้น้ำหนักกับนโยบาย Digital Wallet กับกลุ่มที่เป็นบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในตัวนโยบาย

อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นข่าวดี ดัชนีน่าจะมี Sentiment ทีดีขึ้น โดยได้ปรับประมาณการ 6-12 เดือนข้างหน้า จากเดิมกรอบอยู่ที่ 1,530-1,663 จุด เป็น 1,444 – 1,560 จุด กรณี Best Case ดัชนีอยู่ที่ 1,494 – 1,618 จุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 66)

Tags: , , , , ,