เพื่อไทย สับรัฐบาลล็อกดาวน์แก้โควิด-19 ทำประเทศน็อกดาวน์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในงานสัมมนา “จากล็อกดาวน์สู่น็อคดาวน์ประเทศไทย” ว่า การบริหารงานของรัฐบาลประสบความล้มเหลวทุกด้าน เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วยิ่งหนัก ขณะที่หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 93% ในปลายปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงมาก

ทั้งนี้ ขอเสนอทางออกให้รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมหามาตรการรองรับการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ด้วยการออกนโยบายคนละครึ่ง รัฐบาลครึ่งหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ครึ่งหนึ่ง ลงขันกันออกนโยบายเศรษฐกิจ เช่น นโยบายตัดต้นตัดดอก ต้องคิดล่วงหน้า นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ เช่น เร่งจองวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ประชาชนอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ หยุดทำร้ายประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพ ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายประชาชนอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรค กล่าวว่า การล็อกดาวน์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาล้มเหลว และกำลังนำไปสู่การพังทลายของระบบเศรษฐกิจ เป็น 6 ขั้นบันไดสู่หายนะทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ ได้แก่

1.ล็อกดาวน์ : ช้าและไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลปล่อยให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบาดทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วจึงล็อกดาวน์ และยังเป็นการล็อกดาวน์แบบเหมาเข่งซึ่งทั่วโลกไม่ทำ โดยการล็อกดาวน์ที่หลายประเทศดำเนินการ คือการเล็งเป้าหมายในการล็อกดาวน์ ไม่ล็อกดาวน์ภาคธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะทำให้เกิดความเสียหายในราคาสูง โดยศูนย์นโยบายพรรคฯ เคยประเมินว่า ความเสียหายจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้อยู่ที่เดือนละ 2.6 แสนล้าน หรือวันละ 8,000 ล้านบาท เมื่อความเสียหายมีราคาสูง ทุกวันจึงมีคุณค่า การล็อกดาวน์ก็ต้องคุ้มค่าที่จะจ่าย

2.เทิร์นดาวน์ : รัฐบาลไม่รับฟังข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ นำเสนอเป็นจำนวนมาก เช่น พรรคเพื่อไทยเคยนำเสนอมาตรการคงการจ้างงาน ซึ่งไม่ใช่การแจกเงินทั่วไป แต่ต้องจ่ายตรงไปที่นายจ้าง เพื่อให้นายจ้างรักษางานเก่าของแรงงานไว้ให้ได้อย่างน้อย 90% ไม่ใช่รอตกงานแล้วหางานใหม่ให้ ซึ่งต้นทุนทางงบประมาณสูงกว่า ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะดำเนินมาตรการคงการจ้างงาน แต่ทำไปโดยไม่เข้าใจวิธีการอย่างแท้จริง

3.สโลว์ดาวน์ : การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ เกิดจากรัฐบาลสโลวไลฟ์ที่ออกมาตรการช้าและไม่ถูกทิศทาง เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5 แสนล้านบาท ยอดวงเงินน้อยมากเพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการของระบบอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่ออกมาตรการซอฟต์โลนมาเป็นระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 2.5 แสนล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของวงเงินสินเชื่อ คิดเป็น 1 ใน 4 ของความต้องการเท่านั้น

4.ชัตดาวน์ : ภาคเอกชนทยอยปิดกิจการลงเรื่อยๆ จนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ให้กับธนาคาร เมื่อปิดกิจการก็ต้องปลดคนงาน คนงานไม่มีเงินจ่ายหนี้ ส่งผลต่อรายรับของธนาคาร

5.เบรกดาวน์ : ภาคสถาบันการเงินจะเริ่มมีปัญหาและอาจพังลง เพราะความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้น้อยลง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างความอันตรายของการให้สินเชื่อในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ยังน้อยกว่าการไม่ให้สินเชื่อซอฟต์โลน 1 ล้านล้านบาท แล้วปล่อยให้ภาคเอกชนพังลงแบบนี้

6.น็อกดาวน์ : เมื่อสถาบันการเงิน ภาคเอกชน ตลาด ภาคครัวเรือน มีปัญหา เศรษฐกิจไทยจะถูกน็อกดาวน์ หากเปรียบเป็นมวยที่แพ้เพราะถูกหมัดน็อกจนล้มลง เป็นความเสียหายถาวร ห่วงโซ่การผลิต การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว ชื่อเสียง ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ เสียหายอย่างถาวร

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่บันไดขั้นที่ 5 แม้จะยังไม่ถึงในตอนนี้ แต่มีแนวโน้มและใกล้เคียง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องป้องกันความเสียหายอย่างทันท่วงที สิ่งเหล่านี้ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นความเสียทางเศรษฐกิจที่รุนแรง หากปล่อยไว้จะยิ่งไหล-รั่ว-พัง รัฐบาลควรใช้มาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังให้ตรงจุด รวดเร็ว ทันการณ์ และชาญฉลาด

นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พท. กล่าวว่า รัฐบาลบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว ทำให้ประชาชนล้มตาย จำนวนมาก ทั้งที่การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องยากซ้ำซ้อน แต่รัฐบาลทำช้าซ้ำซาก โรคจึงระบาดเพราะควบคุมการระบาดไม่ได้ การล็อกดาวน์ยาวนานขนาดนี้ หากบริหารจัดการดี ความสูญเสียจะลดลงไปมาก โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพทันต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ต้องจัดหามาอย่างรวดเร็วและทันการณ์

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันคนไทยได้รับวัคซีนเข็มแรก 18% เข็มสอง 6.9% หรือเพียง 24% ขณะที่ทั่วโลกได้รับวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ 31% สิงคโปร์ 77% นอกจากนี้ควรควบคุมโรคเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ ถ้ารัฐบาลฟังข้อเสนอและเร่งจัดซื้อ เพื่อปูพรมตรวจและคัดแยกตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยจะไม่เดินมาถึงจุดนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,