เลือกตั้ง’66: เพื่อไทย ประกาศนโยบายโฉนดที่ดินทำกิน

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ดินจัดเป็นทรัพย์สินพื้นฐานที่ทุกคนควรมี เช่นเดียวกันกับเกษตรกรที่ควรมีที่ดินทำกิน พรรคเพื่อไทยเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงถือโอกาสประกาศนโยบายที่ดินและให้โฉนดกับประชาชน รวมถึงให้ที่ดินกับเกษตรกร โดยพรรคเพื่อไทยได้มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกร

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายโฉนดในที่ดินทำกิน ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอต่อประชาชน มีดังนี้

1. ผู้ครอบครองที่ดินก่อน 1 ธันวาคม 2497 ประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ โดย สค.1 จำนวน 1 ล้านแปลง จะได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ และได้รับโฉนด ทั้งนี้ผู้ครอบครอง ทำประโยชน์ต่อเนื่อง โดยไม่มี สค.1 จะได้รับการพิสูจน์ และได้รับโฉนด

2. ที่ดินประเภท ส.ป.ก. สำหรับที่ดินประเภทเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม จะได้รับโฉนดทันที ส่วนกรณีบุคคลอื่นที่ได้ที่ดินมาจากผู้เช่าซื้อ หรือจากทายาทโดยธรรม จะได้เอกสารสิทธิ์และจะได้เอกสารสิทธิ์ และจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่ และจำกัดรายละไม่เกิน 20 ไร่

สำหรับที่ดินประเภทเช่า ผู้เช่าที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม จะต้องปลูกไม้ยืนต้น ไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่และจะได้รับโฉนด ส่วนกรณีบุคคลอื่น มาถึงคิวที่ได้ที่ดินจากผู้เช่าหรือทายาทโดยธรรม จะได้รับอนุญาตให้เช่าต่อไป โดยจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่ และจะได้ไม่เกิน 20 ไร่

สำหรับที่ดินที่มาจากป่าเสื่อมโทรมจำนวน 33 ล้านไร่ ผู้ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.4-01 หรือทายาทโดยธรรมที่ใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง จะได้รับโฉนด โดยจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่

ส่วนกรณีบุคคลอื่นที่ได้ที่ดินมาจากผู้ที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จะได้รับเอกสารสิทธิ์ โดยต้องทำการปลูกไม้ยืนต้นไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง โดยจะได้ที่ดินไม่เกิน 20 ไร่ สำหรับโฉนดจากนโยบายนี้ ยังถูกคุ้มครองให้เป็นพื้นที่ประกอบการเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม

3. ที่ดินของรัฐประเภทป่าไม้

3.1 ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ประมาณ 7 ล้านไร่ จะได้รับโฉนดในเวลาที่กำหนด โดยจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่

ในส่วนประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ราบเชิงเขา ประมาณ 10 ล้านไร่ จะได้รับเอกสิทธิ์ภายในกำหนดเวลา โดยจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่ ชุมชนพื้นบ้านประมาณ 20,000 หมู่บ้าน ที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง จะได้รับเอกสารในรูปแบบสหกรณ์ป่าไม้ชุมชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 66)

Tags: , , ,