แบงก์ชาติจีนแนะธนาคารภูมิภาค ให้ลดการถือครองบอนด์ระยะยาวพิเศษเพื่อลดความเสี่ยง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (29 เม.ย.) โดยอ้างแหล่งข่าวว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ออกคำแนะนำให้ธนาคารประจำภูมิภาคบางแห่งลดการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยง

แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ในเมืองและในชนบทในอย่างน้อย 2 มณฑลทางภาคตะวันออก ได้รับคำแนะนำในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้หลีกเลี่ยงการถือครองตราสารหนี้เหล่านี้มากเกินไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายใต้แนวทางจากสาขาท้องถิ่นของ PBOC ธนาคารประจำภูมิภาคยังได้รับคำแนะนำให้หันมาถือครองพันธบัตรที่มีระยะสั้นลงและลดการใช้เลเวอเรจกับพันธบัตรด้วย

PBOC ได้เพิ่มความพยายามในการลดความร้อนแรงของราคาพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงถึงเจตนาในการแก้ไขความไม่สอดคล้องระหว่างราคาตลาดกับแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยคำแนะนำล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากที่ PBOC ได้ออกคำแนะนำในลักษณะเดียวกันนี้กับธนาคารในชนบทเมื่อต้นเดือนนี้ เพื่อจำกัดการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวพิเศษ

หลังมีข่าวดังกล่าว ตลาดได้ตอบสนองด้วยการเทขายพันธบัตรรัฐบาล โดยนักลงทุนยังได้ย้ายเงินไปลงทุนในหุ้นจีนที่ฟื้นตัว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 30 ปีปรับตัวสูงขึ้นเหนือ 2.59% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 0.1 จุดเปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างแห่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปีนี้ โดยเก็งว่า PBOC จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาความต้องการซบเซาและวิกฤติอสังหาริมทรัพย์

การขยายตัวของสินเชื่อในจีนยังคงชะลอตัวในเดือนมี.ค. และธนาคารต่าง ๆ ได้ปล่อยกู้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการที่ PBOC คงสภาพคล่องแบบผ่อนปรนได้ช่วยให้เทรดเดอร์มีเงินทุนมากขึ้นในการจัดสรรลงทุนในตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรท้องถิ่นของจีนได้ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงทุนต่างกว้านซื้อหุ้นกู้

นอกจากนี้ พันธบัตรยังได้ประโยชน์จากแรงซื้อจำนวนมากจากกองทุนบริหารความมั่งคั่งและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยจากสถาบันในประเทศ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่แล้ว และอยู่ในระดับใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 20 ปี ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อที่ไม่เพียงพอและสภาพคล่องที่ล้นเหลือ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)

Tags: , , ,