TERA ปิดเทรดวันแรก 2.80 บาท ยืนเหนือจอง 60%

TERA ปิดเทรดวันแรก 2.80 บาท เพิ่มขึ้น 1.05 บาท หรือ +60.00% จากราคา IPO 1.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,216.16 ล้านบาท จากราคาเปิด 3.90 บาท ราคาสูงสุด 4.04 บาท ราคาต่ำสุด 2.70 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.เทอร์ราไบท์ พลัส (TERA) ผู้ออกแบบ ติดตั้ง จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอที และให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร เช่น ระบบเซิร์ฟเวอร์ (Server) ระบบจัดเก็บข้อมูล (Storage) ระบบเครือข่าย (Network) และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)

บริษัทได้รับการแต่งตั้งเป็น Platinum Partner ของ HPE (ชื่อเดิม คือ HP) ซึ่งภายหลังบริษัทมีการจัดจำหน่ายและให้บริการ Local Cloud ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท “T.Cloud” เพิ่มเติม และขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการ Public Cloud อาทิ Microsoft Azure จาก Microsoft และ AWS จาก Amazon

นอกจากนี้ยังจัดจำหน่ายและให้บริการซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการการขนส่งกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ (TMS) ผ่านแอปพลิเคชั่น “Skyfrog” รวมทั้งออกแบบ จัดจำหน่าย ให้บริการติดตั้งและบริการหลังการขายที่เกี่ยวกับห้องศูนย์ข้อมูล (Data Center) แบบครบวงจร โดย TERA มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ NEX ตั้งแต่ปี 61 ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 51

เด่นด้านการให้บริการ Cloud และความต่อเนื่องของรายได้ TERA ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอทีและให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมีหลายรายในตลาด รวมทั้งอาจมีผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งสามารถทดแทนกันได้บางส่วน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

โดย TERA มีจุดแข็งด้านการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งการเติบโตที่สำคัญมาจากการให้บริการ Local Cloud แบรนด์ T.Cloud ของบริษัทเอง และ Public Cloud ของ Microsoft และ AWS โดยเน้นการให้บริการที่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง (Recurring Income) เช่น บริการซ่อมบำรุงและรักษาอุปกรณ์ (MA) บริการ T.Support และ T.Support Plus รวมทั้งเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นภายใต้เครื่องหมายการค้า “Skyfrog” ระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนการขนส่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 49 ของรายได้ทั้งหมดในปี 66

รายได้จากการให้บริการช่วยหนุนการเติบโตของรายได้รวม คาดรายได้ปี 67 เติบโตจากรายได้การให้บริการเป็นหลัก โดยเฉพาะบริการ Cloud ที่เป็นไปตามกระแสการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้อุปสงค์ในการใช้พื้นที่ Cloud เพิ่มขึ้น และคาดสัดส่วนรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ด้วยบริษัทมุ่งเน้นขยายการให้บริการ และมี backlog รอการรับรู้สำหรับรายได้จากการให้บริการในปี 67 อยู่ราว 171.36 ลบ. ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57 ของรายได้จากการให้บริการปี 66

กำไรเติบโตตามรายได้การให้บริการที่เพิ่มขึ้น คาดอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากรายได้การให้บริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าอัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย ประกอบกับ การควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีรายการค่าใช้จ่าย One-time สำหรับการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน เป็นปัจจัยหนุนให้อัตรากำไรสุทธิปี 67 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 66

การระดมทุนเพื่อลงทุนใน T.Cloud version ใหม่ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และเพื่อเป็นเงินทุนในการประมูลงานโครงการในครั้งนี้มีความเหมาะสม โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ ได้แก่ 1) การให้บริการใหม่ๆ ในอนาคต 2) การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการในอนาคต

ความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 2) การแข่งขันที่สูง 3) มูลค่าและจำนวนงานที่ได้รับเพิ่มในแต่ละปี โดยการประเมินเบื้องต้น อิงจาก PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่ 10.9x เท่า มองว่ามูลค่าเหมาะสม ณ ราคา IPO มีพรีเมียมแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 67)

Tags: , ,