UOBAM วางเป้า AUM ปี 67 โต 10% รุกเพิ่มลูกค้าสถาบันมุ่งเน้นลงทุนแบบครบวงจร

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ยูโอบี เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 67 ตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) จะเติบโต 10%จากปี 66 โดยจะมุ่งเน้นผลักดันการเติบโตให้สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าสถาบันมากขึ้น

ปีที่ผ่านมา บลจ.ยูโอบี มีมูลค่า AUM ณ สิ้นเดือน ธ.ค.66 ที่ 248,000 ล้านบาท (ที่มา AIMC) เติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 65 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยการเติบโตของภาพรวมอุตสาหกรรมที่ระดับ 6% โดยแบ่งเป็นกองทุนรวมมูลค่า 124,376 ล้านบาท เติบโต 5% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 67,830 ล้านบาท เติบโต 8% และกองทุนส่วนบุคคลมูลค่า 55,859 เพิ่มขึ้น 25%

การเติบโตในกลุ่มลูกค้าสถาบันเพิ่มมากขึ้นมูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาท เนื่องจาก บลจ.ยูโอบี สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนย้อนหลังให้กับกลุ่มลูกค้าสถาบันได้ดีอย่างต่อเนื่อง และริเริ่มนำเอาปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้ามาสู่กระบวนการลงทุนนั้น สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มลูกค้าสถาบัน

แนวทางกลยุทธ์ในปี 67 บลจ.ยูโอบี จะมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนที่เหมาะสมกับแต่ละสภาวะตลาด และให้คำปรึกษาการลงทุนแบบครบวงจร (One-stop advisory services) ส่วนการขยายธุรกิจในกลุ่มลูกค้าสถาบันจะเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินแบบองค์รวม มุ่งหวังตอบโจทย์ครอบคลุมทุกมิติด้านการเงิน ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแต่การจัดการลงทุนเท่านั้น (Beyond Investment) โดยร่วมมือกันภายใต้เครือข่าย UOB Group เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงที่สุด ซึ่งต่อไปจะมีการเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆด้วย และได้นำปัจจัย ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บลจ.ยูโอบี อยู่ระหว่างการพิจารณานำเอาแนวคิด Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในกระบวนการลงทุนอีกด้วย เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวและเป็นการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมกองทุนของไทยให้มีความยั่งยืน

ตลาดยังเผชิญความเสี่ยงเน้นถือตราสารหนี้ล็อกดอกเบี้ย

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของโลกปี 66 เติบโต 3.10% และคาดการณ์จะปรับลดลงที่ 2.70% ในปีนี้ ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.00% ในปีหน้า (ที่มา : Bloomberg Analyst Consensus as of 8 February 2567) เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องและชะลอตัวในลักษณะน้อยกว่าที่ตลาดกังวล (Better Than Fear) รวมถึงทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและภาคการจ้างงานที่ชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวแบบไม่รุนแรง (Soft Landing) และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจระยะปลาย (Late Cycle) สำหรับตลาดหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อนแรง จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน รวมถึงภาคการจ้างงานที่ชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียมีความผันผวนมากขึ้นหลังจากแนวโน้มการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศเริ่มหมดไปและเผชิญกับความท้าทายจากอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตลดลง โดยมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ความเปราะบางของภาคอสังหาริมทรัพย์โดยแม้ว่าจะมีการกระตุ้นจากภาครัฐออกมาแล้ว แต่ยังมีความท้าทายของรัฐบาล คือ การหาจุดสมดุลทางนโยบายในการแก้ปัญหาระยะสั้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์กับการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ

ส่วนตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ในไตรมาส 4/66 ปรับตัวลดลง เผชิญกับแรงขายต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่ลดลงและความกังวลในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ตรงจุดและเพิ่มภาระทางการคลังในระยะยาว รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาช้ากว่าที่คาด และความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกที่กระทบต่อภาคการส่งออก

จากภาพรวมเศรษฐกิจดังกล่าว ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามดังนี้

1) อัตราเงินเฟ้อที่แม้ว่าจะปรับตัวลดลงแล้วแต่ต้องติดตามดูพัฒนาการว่าจะสามารถปรับตัวลดลงได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

2) ความสอดคล้องกันระหว่างการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการบริหารความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

3) จับตาดูผลจาก Credit Conditions ที่เข้มงวดก่อนหน้านี้มากขึ้น ว่าจะส่งผ่านไปยัง Real Sector มากน้อยแค่ไหน

บลจ.ยูโอบี มีมุมมองว่าการบริหารความเสี่ยงท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญและต้องอาศัยการคัดสรรและการกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์ควบคู่กันไปด้วย จึงแนะนำให้ลดน้ำหนักการถือครองเงินสดและตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น เนื่องจากวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนทั่วโลก เนื่องจาก Treasury ที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ระดับ Yield ในฝั่ง Credit มีความน่าสนใจมากกว่า

ในขณะเดียวกันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ Credit Spread ปรับตัวลดลงได้อีก ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ยังคงต้องอาศัยการคัดสรรตราสารที่มากขึ้น (Selection) เช่น การใช้ปัจจัย ESG เพื่อคัดกรองบริษัทที่มีคุณภาพและช่วยลดความผันผวน และ Downside จากการลงทุน ในขณะเดียวกันได้เพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มประเทศในฝั่งเอเชียที่มี Valuation ที่น่าสนใจและมีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจะไหลกลับหลังจากทิศทางดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยการจัดสรรการลงทุนดังกล่าว เราเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงได้แม้ในช่วงเวลาที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,