BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.60-37.30 ลุ้นท่าทีเฟด-ข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.60-37.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.94 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.83-37.17 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนและฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯ รายงานจีดีพีไตรมาสแรกเติบโต 1.6% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้และเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานเร่งตัวขึ้นถึง 3.7% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ โดยภาวะเงินเฟ้อสูงดังกล่าวเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะตรึงดอกเบี้ยสูงยาวนาน ทางด้านค่าเงินเยนร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 34 ปีครั้งใหม่ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตรึงดอกเบี้ยที่ 0.0-0.1% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ใกล้เป้าหมาย 2% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ แต่บีโอเจกลับแสดงท่าทีกังวลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินเยนในช่วงนี้ ทำให้นักลงทุนประเมินว่าเงินเยนอาจดิ่งลงอีกจนกว่าการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯจะยุติลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,121 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 2,976 ล้านบาท

ภาพรวมในสัปดาห์นี้ เฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. โดยตลาดจะติดตามถ้อยแถลงและท่าทีของเฟดเพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯต่อไป นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการจ้างงานเดือน เม.ย.ของสหรัฐฯ ท้ายสัปดาห์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับค่าเงินดอลลาร์ อนึ่งเราคาดว่าการแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินเยนกำลังใกล้เข้ามาและอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อรวมถึงช่วงวันหยุด Golden Week ของญี่ปุ่น

ส่วนปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ใกล้ระดับที่เป็นกลาง (Neutral) และไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ แต่พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายให้เหมาะสมหากข้อมูลเศรษฐกิจและสถานการณ์เปลี่ยนไป โดย ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ขณะที่ดอกเบี้ยและภาวะการเงินโดยรวมสอดคล้องกับการเติบโต นอกจากนี้ทางการได้เข้าดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะกรณีที่เห็นว่าผันผวนมากเกินไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)

Tags: , , , ,