IPOInsight: STX “จเรรัฐ” คัมแบ็ค !! กับบทบาทนักปั้นมือทอง ดันเหมืองหินเข้าตลาดหุ้น

เอ่ยชื่อ “จเรรัฐ ปิงคลาศัย” วงการหุ้นในอดีตไม่มีใครไม่รู้จัก ทั้งในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร บมจ.ดราก้อนวัน (D1) ที่เคยสร้างความฮือฮากับโมเดลธุรกิจโฮลดิ้งรายแรกๆ และมือ M&A หลากหลายธุรกิจดันราคาหุ้นทะลุทะลวง แต่หลังจากถอยออกไปด้วยการขายกิจการให้เสี่ยไมค์ “สดาวุธ เตชะอุบล” ทำให้ชื่อ “จเรรัฐ” หายหน้าไปจากวงการหุ้นกว่า 15 ปี

วันนี้ “จเรรัฐ” กลับมาพร้อมกับการผลักดัน บมจ.สโตนวัน (STX) ที่ได้เข้าไปลงทุนไว้นานหลายปีเข้าตลาดหุ้น โดยเป็นธุรกิจเหมืองหินเจ้าแรกที่เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 65 ล้านหุ้น เพื่อใช้พัฒนาเหมืองหินแห่งใหม่ รองรับการเติบโตไปกับดีมานด์การก่อสร้างของประเทศไทยที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 26 เม.ย.นี้

STX ประกอบธุรกิจเหมืองหินและแร่ รายได้หลักมาจากการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตและชนิดหินปูน นอกจากนี้ยังผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แร่โดโลไมต์ รวมถึงการให้บริการด้านขนส่งและควบคุมสต็อกสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ไซด์งานอย่างครบวงจร ปัจจุบันบริษัทมีเหมืองหินรวม 2 แห่ง คือ เหมืองหินหนองข่า จ.ชลบุรี อายุสัมปทานถึงปี 2575 และ เหมืองหินจอมบึง จ.ราชบุรีที่มีอายุสัมปทานถึงปี 2585

นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย ประธานบริหาร STX เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า วัตถุประสงค์การใช้เงินระดมทุนของบริษัท คือใช้เพื่อพัฒนาเหมืองหินแห่งใหม่ เนื่องจากการพัฒนาเหมืองใหม่ใช้เวลา 3-5 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท และต้องดำเนินการหลายขั้นตอน เช่น การขอสัมปทาน การสำรวจหน้าเหมือง หรือการติดตั้งเครื่องจักร เพราะฉะนั้นเราต้องดำเนินการเรื่องเหมืองใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อมาทดแทนเหมืองหินหนองข่า จ.ชลบุรี ที่มีอายุสัมปทานถึงปี 2575 ไม่ให้บริษัทต้องขาดช่วงในการผลิต

“เราก็จะเติบโตไปกับความเจริญของประเทศไทย อย่างตอนนี้ที่รัฐบาลมองไปใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เราก็มองว่าการเลือกพัฒนาเหมืองใหม่ของเราก็ควรจะอยู่ใน 3 จังหวัดนี้” นายจเรรัฐกล่าว

นายจเรรัฐ กล่าวอีกว่า การทำธุรกิจเหมืองหิน พอขุดจนเริ่มลึกลงไป ต้นทุนเอาขึ้นมาก็แพงขึ้น ถ้าเป็นเหมืองใหม่บนผิวดินหรือเป็นเหมืองตื้น ๆ ต้นทุนในการผลิตก็น้อย อย่างเหมืองหินหนองข่า จ.ชลบุรีก็ใช้มานานแล้ว ขุดลึกลงไปเป็นหลุม ต้นทุนที่จะเอาขึ้นมาก็แพง เพราะฉะนั้นการพัฒนาเหมืองแห่งใหม่ก็จะทำให้ต้นทุนเราถูกลงด้วย

สำหรับแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี บริษัทก็ยังคงอยู่ใน Core Business นี้ เราจะขยายเหมืองไปเรื่อย ๆ ตามพื้นที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลจะไป เช่น Eastern Seaboard, Southern Seaboard, EEC, Landbridge รวมไปถึงโครงการสร้างสนามบินและรถไฟรางคู่ต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่เราจะไปหาเหมืองตามบริเวณดังกล่าวเพื่อลงทุนต่อไป

“อย่างที่บอกธุรกิจนี้เป็นธุรกิจต้นน้ำของการก่อสร้างทั้งหมด ไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ ไม่ต้องกลัวจะโดน Disruption ก็คือหินหมดเมื่อไหร่ประเทศไทยโตไม่ได้ ถ้าจะก่อสร้างแล้วไม่มีหินมันก็สร้างไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะโตไปกับความเจริญของประเทศไทย” นายจเรรัฐกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 67)

Tags: , , , , , , , , ,