สรรพากร หนุนเอกชนลงทุน Tax Service Provider ให้ลดหย่อนภาษี 2 เท่า

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อน Digital Tax Ecosystem ของประเทศไทย” ว่า ในเดือน ก.ค.66 กรมฯ จะเปิดให้ให้บริการนำส่งข้อมูลระบบบัญชีและภาษี รวมถึงสามารถยื่นภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Tax Service Provider) สามารถให้บริการ e-Tax แบบครบวงจรได้ จากปัจจุบันสามารถทำได้เพียงการยื่นข้อมูลภาษีให้กรมฯ เท่านั้น โดยผู้ที่ยื่นภาษีผ่านระบบ e-Tax สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า ขณะที่ผู้ที่ลงทุนระบบดังกล่าว ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่าเช่นกัน

ปัจจุบันมี Tax Service Provider ที่ให้บริการอยู่ราว 20 ราย โดยกรมฯ ต้องการจะผลักดันให้มีจำนวนรายเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม และให้เอกชนสามารถเข้าระบบภาษีได้อย่างง่ายมากขึ้น โดยผ่าน Tax Service Provider ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการในการส่งข้อมูลเชื่อมต่อกับกรมฯ ที่มีมาตรฐานความมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

โดยระบบ e-Tax Service Provide มีวัตถุประสงค์เพื่อ1. ไม่ต้องเก็บเอกสารกระดาษ 2. ลดข้อผิดพลาดในการเสียภาษี 3. คืนภาษาเร็วด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป้าหมาย คือ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ได้ภายใน 3 วัน

“Service Provider ปัจจุบันมีอยู่แล้ว แต่น้อยราย และทำหน้าที่ได้จำกัด คือนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรได้เพียงอย่างเดียว แต่กรมฯ ต้องการผลักดันระบบ e-Tax Service Provide เพื่อให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่มากขึ้น ให้บริการได้ทั่วถึงและเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงยังถือเป็นธุรกิจใหม่ด้วย โดยหน้าที่จะเปิดกว้างมากขึ้น ทั้งการให้บริการทำงบการเงิน บัญชีภาษี นำส่งและยื่นภาษีต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบันมี Service Provide มายื่นเพื่อให้บริการตามระบบ e-Tax Service Provide แล้ว 5 ราย” นายลวรณ กล่าว

สำหรับเป้าหมายของระบบ e-Tax Service Provide นั้น ภายในปีนี้ Service Provide จะสามารถจัดทำ นำส่งและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ และในปี 2567 จะสามารถจัดเตรียมข้อมูล ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ปี 2568 รายใหญ่ต้องนำส่งรายงานภาษีซื้อ-ขาย จัดทำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และปี 2570 รายใหญ่ต้องยื่นแบบ/ชำระภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ ขณะที่ภายในปี 2571 ทุกรายจะต้องใช้งานระบบ e-Tax Service Provide แบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ 100%

นายลวรณ กล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2566 ว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมฯ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยปัจจุบันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ จะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายราว 1.5-2 แสนล้านบาท หลัก ๆ มาจากการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริโภคในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 66)

Tags: , , , ,